Thursday, July 31, 2008

วันสารทจีน


       มีตำนานที่เล่าขานต่อกันมาหลายตำนานเกี่ยวกับเทศกาลสารทจีน อาทิ เทพเจ้าแห่งดิน หรือเจ้าดิน เช็งฮือไต้ตี่ จะทำบัญชีชำระวิญญาณ เพื่อส่งวิญญาณที่ทำดีมากๆ ขึ้นสวรรค์ ส่วนวิญญาณที่ทำบาปก็ต้องตกนรกรับโทษ แต่ท่านก็ยังมีเมตตาอนุญาตให้พวกวิญญาณในนรกขึ้นมารับของเซ่นไหว้ในช่วงเดือนนี้ได้
       
       บางตำนานเล่าว่าสามีภรรยาคู่หนึ่งมีลูกชายซึ่งได้บวชเป็นพระในพุทธศาสนา ต่อมาบิดาได้บำเพ็ญเพียรบรรลุมรรคผลสู่สวรรค์ แต่มารดาได้ทำกรรมละเมิดศีลลบหลู่ศาสนา เมื่อตายแล้วจึงตกสู่นรกภูมิ ซึ่งขณะนั้นลูกชายได้บำเพ็ญเพียรจนได้อภิญญา 6 เห็นมารดาของตนตกอยู่ในเปรตภูมิ ด้วยความกตัญญูจึงใช้อิทธิฤทธิ์ส่งอาหารไปให้มารดากิน แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด และเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง
       
       ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดา บุตรชายจึงได้ทูลขอพญามัจจุราชรับโทษแทนมารดาทั้งหมด แต่ก่อนที่บุตรชายจะต้องรับโทษ พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรด โดยกล่าวว่า กรรมใดใครก่อก็ย่อมเป็นกรรมของผู้นั้น พร้อมทั้งกล่าวว่าการจะช่วยมารดาที่มีกรรมหนัก ลำพังบุตรชายเพียงคนเดียวไม่พอ ต้องอาศัยแรงกุศลของเหล่าสงฆ์ทุกสารทิศ และจัดเตรียมผลไม้ถวายแด่ผู้ทรงศีลและแผ่กุศลให้มารดาในวันที่ 15 เดือน 7 เดือนที่ประตูนรกจะเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ ตั้งแต่นั้นมา ทุกปีวันที่ 15 เดือน 7 ของจีน จึงถือเป็นเทศกาลวันสารท ชาวจีนทุกครัวเรือนจะจัดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติทั้งหลาย
       
       โดยในวันสารทจีนในช่วงเช้าจะมีการเซ่นไหว้เจ้าที่ก่อน ด้วยของเซ่นไหว้ อาทิ อาหารคาวหวาน ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย ผลไม้ น้ำชา เหล้าจีน กระดาษเงินกระดาษทอง และธูปเทียน แล้วจึงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจะมีของไหว้คล้ายกับไหว้เจ้าที่ แต่จะมีลักษณะพิเศษคือสำรับอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิต 5 อย่าง (อู่เซิง/ภาษาแต้จิ๋วเรียก โหงวแซ) นิยมใช้เนื้อหมู ไก่ เป็ด ปลา และไข่ไก่ หรือ 3 อย่าง เรียกว่า ซันเซิง (ภาษาแต้จิ๋ว เรียกว่า ซาแซ) ถ้าตามประเพณีดั้งเดิมจะใช้เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อแพะ นอกนั้น จะมีข้าวสวย และมักมีน้ำแกงด้วย ส่วน ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทองก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเซ่นไหว้
       
       และนอกจากการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวจีนก็ได้ถือโอกาสเดือนที่ประตูนรกเปิดนี้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาภูตผีไม่มีญาติไปด้วย โดยเรียกประเพณีนี้ว่า 'ทิ้งกระจาดวิญญาณ' ซึ่งจะจัดร่วมอยู่ในเดือน 7 นี้เช่นกัน
       
       พิธีทิ้งกระจาด คือการทำบุญอุทิศให้ดวงวิญญาณร่วมไปกับการแจกทานให้ผู้มีชีวิตที่ยากไร้ งานทิ้งกระจาดจึงต้องทำทั้งสองส่วน ทำบุญกันในศาลเจ้าก่อน แล้วจึงมาแจกของให้คนยากคนจน จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน เล่าว่า ประเพณีทิ้งกระจาดนี้ ทางศาลเจ้าต่างๆ จะกำหนดวันใดวันหนึ่งในช่วงเทศกาลสารทจีน แต่มักจะกำหนดวันในช่วงปลายเทศกาล โดยเป็นการไหว้ด้วยของไหว้ต่างๆ พร้อมทำบุญทิ้งทานคนจนแล้วอุทิศกุศลผลบุญทั้งหมดแก่ทุกดวงวิญญาณโดยไม่เลือกว่าใครเป็นใคร ไม่เฉพาะเจาะจง
       
       และในวันทิ้งกระจาดจะมีภูตผีดวงวิญญาณมากมายมารับของไหว้ ซึ่งอาจจะมีเรื่องชุลมุนกันในหมู่ภูตผี ศาลเจ้าจึงมักมีการตั้งไหว้องค์พญายมเป็นพิเศษเพื่อขอบคุณที่ท่านมาช่วยจัดระเบียบดูแลเหล่าภูตผีให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และในขณะการแจกทานแก่ดวงวิญญาณทั้งหลาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็อาจจะอยากมีมือมาช่วยแจกมากๆ ทางศาลเจ้าจึงมีการไหว้ซาลาเปามือเป็นถาดใหญ่ๆ เพื่อเป็นมือที่ช่วยเทพเจ้าแจกทาน เรียกว่า ซาลาเปาฮุดชิ่ว หรือ ซาลาเปามือพระพุทธ
       
       จิตรา กล่าวว่า "นอกจากจะไหว้เจ้าที่ พ่อแม่บรรพบุรุษแล้ว ยังไหว้ผีไม่มีญาติด้วย คือไหว้ทำบุญ ไหว้ทำทาน นอกจากจะไหว้ผีไม่มีญาติที่หน้าบ้านตนเองตลอดเดือน ยังมาไหว้ที่ศาลเจ้าเพื่อทำบุญ โดยใช้ของไหว้พวกข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งเป็นการทิ้งทานให้คนยากคนจน เพื่อส่งกุศลผลบุญอันนี้ไปให้ภูตผีไม่มีญาติอีกต่อหนึ่งด้วย ดังนั้น ประเพณีทิ้งกระจาดจึงเป็นเหมือนเทศกาลแบ่งปันน้ำใจซึ่งกันและกัน"
       
       จุดประสงค์หนึ่งของวันสารทจีนก็เพื่อเซ่นไหว้พวกผีไร้ญาติ ให้พวกเขาได้รับรู้ถึงความอบอุ่นและมิตรไมตรีของเหล่ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ยังเป็นการให้ทานคนจน หรือผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ โดยทำบุญบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง หมวก กระดาษ เส้นหมี่ จึงถือได้ว่าประเพณีทิ้งกระจาดเป็นประเพณีแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันน้ำใจให้แก่กันและกันในสังคม
       
       จิตรายังเล่าเสริมอีกว่า ในสมัยก่อนที่ตนเคยมาทำบุญทิ้งกระจาดจะเห็นแต่หมวกเหมือนหมวกทำนา กว้างหน่อยก็หมวกกันฝน ข้าวสาร และยังนิยมทำบุญโรงศพ ผ้าดิบห่อศพ เพราะคนตายไม่มีญาติเยอะ หลังๆ มีการตลาดเข้ามา ไหว้ข้าวสารอย่างเดียวชักจะเบื่อ เลยมีไหว้มาม่า วุ้นเส้น เส้นหมี่ น้ำดื่ม ยารักษาโรค เพิ่มขึ้นมาด้วย
       
       ในวันประเพณีทิ้งกระจาด ที่แล้วแต่ทางศาลเจ้าแต่ละแห่งจะกำหนดภายในเดือน 7 นี้ ทางศาลเจ้าจะนำข้าวสาร อาหารแห้ง และของใช้ต่างๆ ที่ผู้คนได้นำมาทำบุญที่ศาลมาแจกจ่ายให้กับคนยากคนจน โดยแต่ละศาลเจ้าก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น บางศาลเจ้าต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมาลงทะเบียนตามวันเวลาที่กำหนด เป็นต้น
       
       โดยศาลเจ้าที่ผู้คนมักจะนิยมมาร่วมทำบุญทำทานและร่วมรับบุญรับทานก็คือที่ 'ศาลเจ้าไต้ฮงกง' ถนนพลับพลาไชย เพราะเชื่อว่าท่านไต้ฮงกงเป็นพระผู้มีความเมตตากรุณา และเป็นผู้ริเริ่มบำเพ็ญกุศลในการจัดฌาปนกิจศพไร้ญาติสมัยราชวงศ์ซ้องเมื่อเกือบพันปีล่วงมาแล้ว ในเวลาต่อมาได้จัดตั้งคณะเก็บศพไต้ฮงกง เพื่อทำการเก็บและจัดการงานศพอนาถา ต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น 'มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง'
       
       ผู้คนจึงนิยมมาทำบุญทิ้งกระจาดกันที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง เนื่องจากการทำบุญทิ้งกระจาดมีความครบถ้วนทั้งการทำบุญและให้ทาน เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่สอดคล้องกับจริยวัตรของท่านไต้ฮงกง ซึ่งจะช่วยเหลือทั้งผู้ยากไร้ที่ตายอย่างไร้ญาติและผู้ที่ยังต้องสู้ชีวิตความยากจนต่อไป
       
       ดังนั้น งานประเพณีทิ้งกระจาดจึงเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เพื่อสร้างความเอื้ออาทรกันในหมู่สมาชิกของสังคมส่วนใหญ่ โดยถือว่าการทำบุญให้ทานนี้เป็นเครื่องลดความเห็นแก่ตัวลง
       
       ในย่านคนจีนเยาวราช ก็จะคึกคักขึ้นในช่วงของงานเทศกาลจีนต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เทศกาลสารทจีนเท่านั้น ในทุกเทศกาลของจีนมักจะมีกระดาษเงินกระดาษทอง รวมถึงเป็ด ไก่ เป็นของเซ่นไหว้อยู่เสมอ จิตราเล่าว่า ในสมัยก่อนผู้คนจะมาซื้อหากระดาษเงินกระดาษทองที่ 'ตรอกกระดาษเงินกระดาษทอง' หรือ ซอยเจริญกรุง 21 กันเป็นจำนวนมาก เพราะที่นี่ถือเป็นแหล่งซื้อขายกระดาษเงินกระดาษทองที่ใหญ่ที่สุด แม้ปัจจุบันตรอกกระดาษเงินกระดาษทองจะไม่เป็นที่นิยมเท่าแต่ก่อน เนื่องจากการขยายตัวของสังคม แต่ก็ยังคงเป็นแหล่งค้าส่งกระดาษเงินกระดาษทองที่มีลมหายใจ
       
       รวมถึง 'ตรอกเชือดเป็ดเชือดไก่' หรือชื่อทางการว่า ถนนมังกร ก็เคยมีอดีตที่คึกคักพลุกพล่านไปด้วยผู้คนในช่วงเทศกาลจีนต่างๆ ร้านค้าจะนำเป็ดไก่ที่ยังเป็นๆ มาเชือดเพื่อค้าขายในเทศกาลเซ่นไหว้ต่างๆ แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในปัจจุบันตรอกเชือดเป็ดเชือดไก่เหลือร้านค้าเป็ดไก่อยู่ไม่กี่ร้านเท่านั้น
       
       แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ลูกหลานชาวจีนก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งประเพณี ความเชื่อ ของพวกเขา แม้จะมีการดัดแปลงไปบ้าง ก็เชื่อว่าประเพณีสารทจีน และประเพณีเทกระจาด ในเดือน 7 นี้ จะคงอยู่สืบไป



 

No comments: